วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2558

Conduct disorder (CD) พฤติกรรมเกเรคล้ายอันธพาล


Mental Health


สุขภาพจิต

          
       


              เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตที่เป็นสุข  การส่งเสริมสุขภาพจิตใจ  ช่วยให้ปรับตัวในชีวิต  ให้เป็นประโยชน์  ทั้งการเรียน  การทำงาน สังคม  ความคิดและอารมณ์เป็นปกติ   ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช 

สภาพจิตใจของเด็ก



                 

          ในที่นี้ เด็ก หมายถึง วัยแรกเกิดจนถึง 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเข้าสู่วัยรุ่น ทั้งนี้อาจจะพิจารณาเป็น 3 ระยะ คือ วัยทารก วัยก่อนเรียน และวัยเรียนในแต่ละวัยมนุษย์เรามีความต้องการตามธรรมชาติแตกต่างกันไป ถ้าได้บรรลุความต้องการก็จะเกิดความพึงพอใจ เชื่อมั่นในตนเอง มานะพยายาม และเกิดการพัฒนาบุคลิกภาพในทางที่เหมาะสมต่อไปถ้าผิดหวังก็เกิดขัดเคือง หมดความมั่นใจ ท้อถอยรู้สึกเป็นผู้แพ้3 สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ เด็กเล็กมีความต้องการทางร่างกาย ได้แก่อาหาร อากาศ น้ำ สัมผัส ฯลฯ เมื่อโตขึ้นมีการเรียนรู้มากขึ้นก็เกิดความต้องการทางอารมณ์ สังคม
ความต้องการของเด็กเล็กแบ่งได้เป็น 4 อย่าง คือ 4 อารมณ์
      1. ความต้องการความรัก (Need for Affection) เมื่อเด็กจำความได้จะรู้สึกว่าความรักความอบอุ่นนั้นเป็นของสำคัญอยากให้คนอื่นรักและได้รักคนอื่น เด็กที่มีความอบอุ่นได้รับความรักจากพ่อแม่ พี่น้อง จะมีอารมณ์แจ่มใสคงที่ ไม่มีการเอาเปรียบอิจฉาริษยา ซึ่งตรงข้ามกับเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่น
     2. ความต้องการความปลอดภัย (Need for Security) เด็กต้องการความเสมอต้นเสมอปลาย หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เด็กไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จะทำให้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในฐานะไม่ปลอดภัย
     3. ความต้องการสถานะในสังคม (Need for Status) เด็กทุกคนต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อยากให้คนอื่นเอาใจใส่ และชมเชย
    4. ความต้องการอิสรภาพ (Need for Independence) เด็กต้องการรับผิดชอบการงาน ต้องการทำงานเป็นอิสระตามความสามารถของตนความต้องการเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้เด็กเกิดมีการกระทำต่างๆหรือแสดงพฤติกรรมต่างๆออกมา เพื่อสนองความต้องการที่เกิดขึ้นอารมณ์ของเด็ก อารมณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก และมีการพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ จนกระทั่งมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional maturity) ได้แก่ ความโกรธ ความกลัว ความรักและความริษยา 
ความโกรธของเด็ก
        ความโกรธเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งใด หรือบุคคลใดมาขัดขวางความปรารถนาไว้ ทำให้เกิดความคับข้องใจ (Frustration) ถ้าผิดหวังมากก็จะโกรธมากสำหรับเด็กเล็กความโกรธจะปรากฏให้เห็นเมื่อเด็กไม่สามารถทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ต้องการได้หรือเมื่อการกระทำของเด็กถูกขัดขวาง การแสดงอาการโกรธจะแตกต่างกันไปตามอายุของเด็กแต่ละคนในวัยทารก เมื่อการกระทำของเด็กถูกขัดขวาง เด็กทารกจะแสดงการร้องไห้ แสดงอาการไม่เป็นสุข แต่เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ จะแสดงออกโดยการเตะถีบสิ่งของต่างๆ ลงมือลงเท้า ร้องไห้ ด่า ขว้างปาข้าวของ หรืออาการก้าวร้าวอื่นๆ เมื่อโตขึ้นอาจจะแสดงออกในลักษณะต่างๆกันเช่น แสดงออกทางสีหน้า การไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยจนถึงการทำร้ายผู้อื่น ในสถานการณ์เดียวกันอาจก่อให้เกิดความกลัวในระดับอายุหนึ่ง โกรธในอีกระดับอายุหนึ่ง และอีกระดับอายุหนึ่งอาจมีการขบขันก็ได้
ความกลัวของเด็ก
         ความกลัวเกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกว่าตนเองขาดความปลอดภัย (insecurity) ซึ่งจะเกิดต่อเมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทำให้เกิดขึ้น เด็กจะแสดงความกลัวโดยการร้องและแสดงอาการกระเถิบหนีตามธรรมชาติ ความกลัวมักมีสาเหตุจากการที่เด็กต้องเผชิญกับสิ่งแปลกๆใหม่ๆโดยทันทีทันใดหรือไม่คาดฝัน เด็กอายุ 1-3 ขวบ จะแสดงอาการกลัวความมืด กลัวฝันร้าย ความกลัวของเด็กอาจเนื่องมาจากผู้ใหญ่ก็ได้ถ้าผู้ใหญ่แสดงอาการกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เด็กก็จะพลอยกลัวไปด้วย หรือ เกิดจากการที่ผู้ใหญ่หลอกให้เด็กกลัวสิ่งที่ไม่มีเหตุสมควร สิ่งต่างๆที่เด็กกลัว พอจะแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ 4 อารมณ์
    1. สัตว์ ตั้งแต่สัตว์เล็กไปจนถึงสัตว์ใหญ่
    2. สถานการณ์น่ากลัว
    3. ธรรมชาติที่เด็กกลัว เช่น ฟ้าผ่า
    4. สิ่งนอกเหนือธรรมชาติ เช่น ผี ยักษ์ ฯลฯ
โดยทั่วไปความกลัวของเด็กขึ้นกับอายุและการเรียนรู้ วัยทารกนั้นยังมีความกลัวไม่มาก แต่เมื่อโตขึ้น รับรู้แยกแยะได้มากขึ้น ความกลัวก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ยิ่งเริ่มจินตนาการได้บางทีเด็กก็จะมีความกลัวจากจินตนาการของตนเองเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กก็จะสามารถใช้สติปัญญาความรู้ความเข้าใจต่างๆ ขจัดความกลัวในบางสิ่งบางอย่างที่เคยกลัวลงได้ ส่วนอิทธิพลของการเรียนรู้ที่มีต่อความกลัวของเด็กนั้น มองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน การเรียนรู้นี้อาจมาจากประสบการณ์ของเด็กโดยตรง
ความรักของเด็ก
        ความรัก (Affection) เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งต่อบุคคลหรือสิ่งของ ความรักของเด็กจะเป็นไปตามธรรมชาติ เกิดจากสถานการณ์ทางสังคมและการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะรักผู้ที่ดูแลและให้ความเอ็นดูแก่เขาตั้งแต่ในวัยทารก และการแสดงความรักของเด็กก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กรู้จักเกี่ยวข้องกับคนมากขึ้น เมื่อโตขึ้นก็จะรู้จักรักสิ่งของ ถ้าได้รับแต่ความจงเกลียดจงชังอารมณ์รักของเด็กจะไม่พัฒนาขึ้นมาเท่าที่ควร ทั้งเด็กยังต้องออกไปแสวงหาความรักจากบุคคลภายนอกบ้าน เด็กเล็กๆถ้ารักใครจะแสดงออกมาให้เห็นโดยการกอดรัด เมื่อโตขึ้นเข้าโรงเรียนการแสดงออกก็เปลี่ยนไป จะกลายเป็นชอบอยู่ใกล้คนที่เด็กรัก ทำงานร่วมกัน แทนที่จะแสดงความรักแบบวัยเด็กเล็กๆ ความรักเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต คนที่ขาดความรักไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับย่อมขาดความสุขใจรวมทั้งเกิดปมด้อยได้ ดังนั้น การเป็นผู้ที่มีความรักที่ดีและเหมาะสมจึงเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการทางจิตใจอย่างมากมาย
ความริษยาของเด็ก
       ความริษยา (Jealousy) เกิดขึ้นเมื่อเด็กต้องสูญเสียความรักไป หรือเมื่อเด็กพบว่ามีคนอื่นมาเอาสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นสมบัติพิเศษของเขาไป 3 อารมณ์ริษยานี้จะแสดงออกมาในลักษณะของความโกรธ อาจจะโกรธบุคคลหรือสิ่งของก็ได้ อาจจะมีความโกรธและความกลัวผสมกัน ผู้ที่เกิดอารมณ์ริษยาจะรู้สึกว่าตนเองได้รับการข่มขู่ ขาดความมั่นคงมั่นใจในการที่จะติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลที่ตนรัก เพราะเกิดความกลัวว่าคนที่ตนรักจะไม่รักตน สาเหตุและการแสดงออกของอารมณ์ริษยาของเด็กๆนั้นขึ้นอยู่กับการฝึกฝน การเรียนรู้ของเด็ก และการปฏิบัติของคนอื่นต่อเด็ก อารมณ์นี้ทำให้เด็กมีความรู้สึกมองโลกไปในแง่ร้ายแม้ในวัยผู้ใหญ่ สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอารมณ์ริษยามักจะเป็นบุคคลและสถานการณ์ทางสังคม พ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเด็กมักเป็นผู้ที่ทำให้เด็กเกิดอารมณ์ริษยา เนื่องจากเด็กต้องการความรัก ความสนใจจากผู้ใหญ่ เด็กมักรู้สึกว่าตนต้องแข่งขันกับเด็กอื่นอยู่เสมอ ความริษยาในเด็กจะแสดงออกในรูปพฤติกรรมต่างๆ เช่น ปัสสาวะรดที่นอน กัดเล็บ ทำลายข้าวของ หรือเรียกร้องให้ผู้อื่นสนใจตน เมื่อโตขึ้นความริษยาบุคคลในบ้านจะลดลง เด็กจะเบนความสนใจไปสู่สิ่งแวดล้อมนอกบ้าน หันไปริษยาเพื่อนๆ อาการที่เด็กแสดงออกบ่อยๆเมื่อเกิดอารมณ์ริษยา คือ
      1. แสดงความเป็นศัตรู หรือก้าวร้าวกับคู่แข่งของตน
      2. พยายามทำตัวให้เหมือนคู่แข่ง
      3. ยอมแพ้
      4. พยายามเก็บกดไว้ คิดว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ
     5. หาทางออกไปในการหาชื่อเสียงอื่น
         ในเด็กโต การแสดงออกจะมาในรูปทางอ้อมมากกว่าทางตรงความริษยาของเด็กเริ่มก่อตัวจากครอบครัวก่อน และเป็นผลจากการเลี้ยงดูการแสดงออกของพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่แสดงความสนใจเด็ก เด็กย่อมไม่เกิดความริษยามากนัก อย่างไรก็ดีอารมณ์นี้ในเด็กเล็กถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา3 เพราะเด็กเล็กย่อมต้องการความรัก ความสนใจ เอาใจใส่ ยังไม่ได้เรียนรู้ถึงการเอื้อเฟื้อต่อกัน พ่อแม่ผู้มีหน้าที่เลี้ยงดูเด็กจึงควรฝึกให้เด็กมีความริษยาน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะได้เป็นคนมีจิตใจเยือกเย็น หนักแน่น ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
  การแบ่งแยกโรค หรือความผิดปกติในทางจิตเวชเด็ก ถือลักษณะอาการแสดงเป็นสำคัญ เกณฑ์วินิจฉัยข้อต่างๆ ได้มาจากการวิจัย ซึ่งช่วยให้ผู้ที่มิใช่จิตแพทย์เด็กโดยตรงสามารถเห็นภาพของลักษณะการแสดงออกของโรคที่เป็นจริง และมีความสำคัญทางคลินิก
แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม ซึ่งในแต่ละกลุ่มยังมีชนิดโรคย่อยๆอีกหลายประการ ได้แก่
1. Mental Retardation หรือที่เรียกกันว่า ปัญญาอ่อน ซึ่งหมายถึง ความผิดปกติทางด้านปัญญา และความบกพร่องทักษะการปรับตัว ทำให้ความสามารถในการดำรงชีวิตบกพร่องไป โดยเกิดขึ้นก่อนอายุ 18 ปี
2. Learning Disorders หรือความบกพร่องของทักษะในการเรียน คือความผิดปกติของสมองในกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ อันได้แก่
- Reading disorder คือ เด็กมีปัญหาในการอ่านให้เข้าใจ
- Mathematics disorder คือ เด็กมีปัญหาในเรื่องคณิตศาสตร์
- Disorder of written expression คือ เด็กมีปัญหาในการเขียนแสดงสื่อความหมาย
3. Motor Skills Disorders มีความผิดปกติของการประสานงานของกล้ามเนื้อมือ
4. Communication Disorders มีความผิดปกติในด้านการสื่อสารไม่ว่าภาษาพูด หรือภาษามือ (sign language) ซึ่งอาจเป็นเพราะความผิดปกติในด้านการแสดงออก การรับและตีความหมาย การออกเสียง ติดอ่าง เป็นต้น
5. Pervasive Developmental Disorders คือความผิดปกติในด้านพัฒนาการหลายด้าน ได้แก่ การโต้ตอบเข้าใจภาษา การมีความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดรอบข้าง และ การมีความคิดจินคนาการที่เหมาะตามวัย ซึ่งเด็กมักมาตรวจด้วยอาการไม่พูด ไม่ติดใคร ตัวอย่างเช่น autistic disorder หรือ ออทิสซึ่ม ที่รู้จักกันดี
6. Attention-Deficit and Disruptive Behavior Disorders แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อยๆ คือ
- Attention- deficit/hyperactivity disorder หรือโรคซน-สมาธิสั้น
- Conduct disorder เด็กมีพฤติกรรมเกเรคล้ายอันธพาล
- Oppositional defiant disorder เด็กมีอาการดื้อ ไม่เชื่อฟัง
7. Feeding and Eating Disorders of Infancy or Early Childhood ความผิดปกติในพฤติกรรมการกิน เช่น pica (กินสิ่งที่ไม่ใช่อาหารตามวัฒนธรรมนั้นๆ) rumination disorder (เคี้ยวกลืนแล้วขย้อนออก) หรือปัญหาในการป้อนอาหารจนเด็กไม่เติบโตตามเกณฑ์
8. Tic Disorders คือ อาการกระตุกของกล้ามเนื้อต่างๆอย่างไม่เป็นจังหวะ หรือการส่งเสียงหรือพูดคำต่างๆ ซ้ำๆ
9. Elimination Disorders คือความผิดปกติของการขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจจาระ
อื่นๆ ได้แก่
10.Separation anxiety disorder ความกังวลต่อการต้องแยกจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด
- Selective mutism เด็กไม่ยอมพูดกับคนนอกครอบครัว แม้แต่ที่โรงเรียน
- Reactive attachment disorder of infancy or early childhood เด็กที่ขาดความรักผูกพันแต่เล็ก เช่นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง จนเกิดปัญหาเหม่อลอย ไม่สนใจคนอีกเลย หรือต้องสนิทกับคนแบบไม่เลือก
- Stereotype movement disorder พฤติกรรมซ้ำๆ ของเด็ก เช่น ดูดนิ้ว กัดเล็บ โขกศีรษะกับพื้น 

                                  ความประพฤติผิดปกติ       

       Conduct disorder (CD) ความประพฤติผิดปกติ


                 
                       ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงของวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบที่ดีพอ นับเป็นปัญหาสุขภาพของประเทศที่สำคัญอย่างหนึ่งและทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากต่อทั้งตัววัยรุ่นเอง บุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม วัยรุ่นที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นโรคทางจิตเวช หรือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาครอบครัว สังคม และปัญหาอื่น ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม จึงมีผลกระทบต่อพัฒนาการและความสามารถในด้านต่างๆของตัววัยรุ่นเองอย่างมาก และยังทำให้เกิดปัญหาอื่นทั้งต่อตนเองและผู้เกี่ยวข้องตามมาอีกมาก พฤติกรรมก้าวร้าวของวัยรุ่นไม่ได้เป็นเพียงปัญหาส่วนบุคคล ครอบครัว หรือสังคม แต่เป็นปัญหาที่ซับซ้อนเกี่ยวข้องกันในหลายมิติ เกิดจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากตัววัยรุ่นเอง และปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ตั้งแต่ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน สังคม ค่านิยม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบต่อกันไปมาอย่างต่อเนื่องและซับซ้อนจนทำให้วัยรุ่นบางคนแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในที่สุด
          เด็กหรือวัยรุ่นที่เป็น CD มีลักษณะพฤติกรรมที่ละเมิดต่อสิทธิพื้นฐานของคนอื่น หรือฝ่าฝืนกฎหรือบรรทัดฐานของสังคมตามวัยอย่างซ้ำซากและสม่ำเสมอ อาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมเกเรที่ก้าวร้าวต่อคนหรือสัตว์ที่เป็นผู้เริ่มขึ้นเองหรือตอบสนองต่อการกระทำของผู้อื่น เช่น ข่มขู่ รังแก ทำให้ผู้อื่นหวาดกลัว ต่อสู้ชกต่อย ใช้อาวุธที่อาจเป็นอันตรายสาหัส ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายสัตว์ ข่มขืน จี้ปล้น หรือเป็นพฤติกรรมเกเรที่ไม่ก้าวร้าว ได้แก่ ทำลายทรัพย์สิน ฉ้อโกงหรือขโมย หรือละเมิดกฎอย่างรุนแรง เช่น หนีออกนอกบ้าน หนีโรงเรียน จำแนกย่อยเป็นชนิด childhood-onset คือเริ่มมีอาการก่อนอายุ 10 ปี และ adolescent-onsetคือเริ่มมีอาการหลังอายุ 10 ปี ผู้ป่วย CD จะมีลักษณะแข็งกระด้าง ไม่รู้สึกผิดหรือเสียใจต่อการกระทำของตนเอง อาจแกล้งเสียใจเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ใส่ใจความรู้สึก ความคิด หรือความต้องการของผู้อื่น อดทนต่อความคับข้องใจไม่ได้ ระเบิดอารมณ์โกรธง่าย มักแปลความหมายสถานการณ์ต่างๆไปในทางก้าวร้าวรุนแรงกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่คลุมเครือ จึงตอบสนองไปอย่างก้าวร้าวที่ตนเองคิดว่าสมควรแล้ว มักมีประวัติการใช้สารเสพติด ปัญหาพฤติกรรมในโรงเรียน ปัญหาพฤติกรรมทางเพศ ร่วมด้วย
ความตั้งใจบกพร่อง และพฤติกรรมบกพร่อง
      ความตั้งใจบกพร่อง การไม่อยู่นิ่ง มีอาการขาดสมาธิ ไม่อยู่นิ่ง ควบคุมตนเองไม่ได้ หุนหันพลันแล่น ซึ่งเป็นนานต่อกันกว่า 6 เดือน จนถึงระดับที่ไม่อาจปรับตัวได้และไม่เข้ากับระดับพัฒนาการ
การขาดสมาธิ การที่ไม่สามารถจดจ่อกับรายละเอียด เลินเล่อต่อกิจกรรมต่างๆ ขาดสมาธิในการฟัง การประกอบการงาน ไม่สามารถทำตามคำสั่ง ทั้งงานที่โรงเรียน บ้าน หรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ขาดความใส่ใจพยายาม ขาดความรับผิดชอบ ขาดความอดทน
พฤติกรรมต่อต้านสังคม มีพฤติกรรมที่ละเมิดสิทธิพื้นฐานของคนอื่น
โดยมีแบบแผนพฤติกรรมที่เป็นซ้ำๆ และคงอยู่ตลอด โดยไม่เคารพกฎบรรทัดฐานที่สำคัญของวันนั้น อันได้แก่ มีแบบแผนพฤติกรรมที่เป็นซ้ำๆ และคงอยู่ตลอด โดยละเมิดต่อสิทธิพื้นฐานของคนอื่น หรือต่อกฎ บรรทัดฐานที่สำคัญๆ ของวัยนั้นๆ ซึ่งแสดงออกโดย มีอาการ
3 ข้อหรือมากกว่านั้น 


สาเหตุ



1. พันธุกรรม ลักษณะโครโมโซมเพศที่มี xyy มีผลต่อพฤติกรรมก้าวร้าวได้
2. ปัจจัยทางชีวภาพ
·       ฮอร์โมนเพศ
- เด็กชายที่มีระดับ androstenedione สูงมีพฤติกรรมก้าวร้าว
- เด็กชายที่มีระดับ testosterone สูง จะมีความอดทนต่ำ
·       ชีวเคมีของสมอง : Serortonergic function, 5-HIAA
      -  โรคของระบบประสาท : autonomic arousal ต่ำ
3. ปัจจัยทางด้านจิตใจ
           - พฤติกรรมการเรียนรู้ : เด็กขาดวุฒิภาวะการทำหน้าที่ ขาดการเรียนรู้อย่างมีเหตุผล  ขาดเหตุผลทางจริยธรรม
          - แนวโน้มเด็กเกเร : ขาดการควบคุมอารมณ์ วิตกกังวลน้อย ไม่สนใจสิ่งตอบแทน
4. ปัจจัยทางครอบครัว
           - บิดามารดาเป็นโรคจิตเวช
           -  สิ่งแวดล้อมขาดระเบียบ
           -  บุคลิกภาพบิดามารดาผิดปกติ
           -  สัมพันธภาพครอบครัวไม่ดี
          -  ความรุนแรงในครอบครัว
5. ปัจจัยทางสังคม เด็กที่ไม่ได้รับการยอมรับ ขาดพื้นฐานการไว้ใจผู้อื่น
            - ถูกปฏิเสธ
            - ครอบครัวยากจน

อาการและการแสดง  


       

 อาการมักเกิดก่อนอายุ 7 ปี และมักพบว่าบกพร่องในสถานการที่บ้าน และที่โรงเรียน     
    
ด้านอารมณ์ 



- ความอดทนต่ำ อารมณ์เสียง่าย หงุดหงิดง่าย
- ลึกๆ แล้ว รู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย ไม่มีคุณค่า
- มักใช้กลไกทางจิตแบบโทษผู้อื่น
- ไม่รู้สึกละอายใจ หรือรู้สึกผิดแม้ถูกลงโทษ
- มักมีความวิตกกังวลสูง/ซึมเศร้าร่วมด้วย          
ด้านพฤติกรรม 


- ก้าวร้าว รุนแรง มักมีเรื่องทะเลาะวิวาท ชกต่อย/ตบตีเป็นประจำ
- ดื้อรั้น ไม่เชื่อฟังครู/ผู้ปกครอง
- ชอบท้าทาย/ฝ่าฝืนกฎระเบียบต่างๆ
- ชอบแกล้งเพื่อน หรือข่มขู่ให้ผู้อื่นทำตามที่ตนต้องการ
- ชอบพูดคำหยาบ พูดโกหก
- ลักขโมย ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ
- หนีเรียน หนีออกจากบ้าน
 - ข่มขู่เพื่อน
- ใช้สารเสพติด สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
- มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสมกับวัย 

การวินิจฉัย  (อาการที่ปรากฏอย่างน้อย 1 อย่างใน 3 เดือน) จะพบว่า

ก้าวร้าวต่อคนหรือสัตว์
  - มักรังแก ข่มขู่ หรือทำให้ผู้อื่นหวาดกลัว
  - มักเป็นผู้เริ่มการต่อสู้
  - เคยใช้อาวุธที่อาจเป็นอันตรายสาหัสต่อร่างกายผู้อื่น (ใช้ไม้ อิฐ เศษขวดแก้วแตก มีด ปืน)
  - เคยทำร้ายร่างกายคน
  - เคยทำร้ายสัตว์
  - มีการขโมยต่อหน้าเจ้าของ (เช่น รัดคอจี้ กระชากกระเป๋า ทำร้ายร่างกายเอาทรัพย์ ขู่กรรโชก ใช้อาวุธปล้น)
  - บังคับให้ผู้อื่นมีกิจกรรมทางเพศด้วย
ทำลายทรัพย์สิน
  - จงใจวางเพลิงโดยประสงค์ให้เกิดความเสียหายรุนแรง
  - จงใจทำลายทรัพย์สินผู้อื่น (นอกจากการวางเพลิง)
ฉ้อโกงหรือขโมย
  - งัดแงะเข้าบ้าน อาคาร หรือ รถ ของคนอื่น
  - มักพูดปดเพื่อให้ได้สิ่งของ ความสะดวก หรือเลี่ยงกฎเกณฑ์ (ปลิ้นปล้อน)
  - เคยขโมยของที่มีค่าโดยไม่เผชิญหน้าเหยื่อ (เช่น หยิบของจากร้าน แต่โดยไม่งัดแงะเข้าร้าน ทำของเทียม)
ละเมิดกฎอย่างรุนแรง
  - ออกนอกบ้านกลางคืนแม้ผู้ปกครองจะไม่อนุญาต เริ่มก่อนอายุ 13 ปี
  - เคยหนีจากบ้านไปค้างที่อื่นอย่างน้อย 2 ครั้งในขณะอาศัยกับผู้ปกครองหรือผู้ดูแล (หรือทำครั้งเดียว แต่ไปค้างที่อื่นเป็นเวลานาน)
  - มักหนีโรงเรียน เริ่มก่อนอายุ 13 ปี
พฤติกรรมผิดปกตินี้ก่อให้กิจกรรมด้านสังคม การศึกษา หรือการงานบกพร่องลงอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์
  - ถ้าอายุ 18 หรือมากกว่า ต้องไม่เข้าเกณฑ์ของ Antisocial Personality Disorder


ระบุชนิดโดยอาศัยอายุเริ่มต้นของอาการ

        Childhood-Onset Type: มีอาการอย่างน้อยหนึ่งหัวข้อของ Conduct Disorder ก่อนอายุ 10 ปี
        Adolescent- Onset Type: ไม่มีอาการเข้าเกณฑ์ใดเลยของ Conduct Disorder ก่อนอายุ 10 ปี
 ระบุความรุนแรง
       Mild:  มีปัญหาพฤติกรรมเกินเกณฑ์การวินิจฉัยเพียงไม่กี่ข้อ และ ปัญหาพฤติกรรมนั้นๆ ก่อผลเสียเพียงเล็กน้อยต่อผู้อื่น (เช่น โกหก หนีโรงเรียน ออกนอกบ้านกลางคืนโดยไม่ได้รับอนุญาต)
      Moderate:  จำนวนและผลของปัญหาทางพฤติกรรมอยู่กลางๆระหว่าง mild และ severe
     Severe: มีปัญหาพฤติกรรมเกินเกณฑ์การวินิจฉัยหลายข้อ หรือ ปัญหาพฤติกรรมนั้นๆก่อผลเสียชัดเจนต่อผู้อื่น (เช่น บังคับการร่วมเพศ ทำร้ายร่างกาย ใช้อาวุธ ขโมยโดยเผชิญหน้ากับเจ้าของ งัดแงะ)
     พฤติกรรมดังกล่าวทำให้กิจกรรมด้านการศึกษา สังคม งานบกพร่องลง อาจเริ่มมีอาการอย่างน้อย 1 อย่าง ในวัยอายุก่อน 10 หรืออาจมีอาการในวัยรุ่นก็ได้
       พฤติกรรมที่แสดงออกถ้าเป็นระดับไม่รุนแรงมักเป็นพฤติกรรมทีไม่เผชิญหน้า ก่อผลเสียหาย เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นระดับรุนแรงมักก่อผลเสียต่อผู้อื่นมาก และมีพฤติกรรมแบบเผชิญหน้า เช่น ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน เป็นต้น 
     

พฤติกรรมที่เป็นปัญหาซึ่งพบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น

       ปัญหาการแยกจาก มีความกังวลเกินควรที่จะต้องห่างบ้าน ห่างคนที่รู้สึกผูกพันด้วย ในวัยรุ่นมักพบว่ามีอาการกังวลกลัวเรื่องการสูญเสีย กลัวคนที่ผูกพันจะเกิดอันตราย มักคิดถึงเหตุการณ์ร้าย ๆ กับคนที่ตนรัก และกลัวจะเกิดขึ้นจริง มักมีอาการฝันร้ายซ้ำๆ เรื่องการพลัดพราก บางครั้งไม่อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากนอนคนเดียว ถ้าไปนอนค้างนอกบ้านจะลังเลอย่างมาก หรือปฏิเสธถ้าไม่มีคนที่ผูกพันสนิทอยู่ด้วย นอกนี้อาจมีอาการทางกายร่วมด้วย... ซึงสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูทีปกป้องมากเกินไป จนทำให้เด็กเกิดความผูกพันจนแยกไม่ออกระหว่างตนเองกับผู้อื่น เด็กถูกวางเงื่อนไขว่าสถานการณ์ต่างๆ ไม่น่าปลอดภัย ไม่น่าไว้วางใจ เด็กไม่ได้ถูกฝึกให้ช่วยเหลือตนเอง ไม่เรียนรู้ความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้อยากพึงพิงผู้อื่นอยู่ร่ำไป เมื่อโตขึ้น รู้สึกขาดที่พึ่งไม่ได้ ไม่สามารถยืนได้ด้วยตนเอง และอาจเรียนรู้เรื่องการคิดทางลบ ขี้กังวล เครียดง่าย จากคนรอบข้างดับพัฒนาการ
พฤติกรรมขาดประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะดังนี้
      1. การบิดเบือนความจริง การพัฒนาพฤติกรรมปรับตัวที่มีประสิทธิภาพที่สำคัญคือ ความสามารถที่จะรับรู้ความจริงอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง บุคคลจะต้องแยกให้ได้ระหว่างความจริงกับสิ่งที่เขาจินตนาการไปเอง ระหว่างแรงจูงใจในระดับจิตสำนึกกับจิตใต้สำนึก ผู้ที่แยกระหว่างความจริงกับการเพ้อฝันไม่ได้ คือ พวกที่เป็นโรคจิต พวกที่มีความวิตกกังวลเป็นตัวผลักดันให้กระทำในสิ่งที่ขาดเหตุผลจะมาอธิบาย คือ อาการโรคประสาท ในพวกโรคจิตสูญเสียความจริงไปทั้งหมด ในพวกโรคประสาทเป็นการหลีกหนีความเป็นจริงโดยการเก็บกด
       นอกจานี้จะพบว่า ยังมีพวกที่พฤติกรรมการปรับตัวไม่เหมาะสมที่มีระดับการต่อสู้กับตนเองน้อยกว่าแบบอื่น พวกนี้ก่อความยุ่งยากให้กับคนอื่นมากว่าตนเอง คนอื่นมักตกเป็นเหยื่อของพวกนี้ ซึ่งมีลักษณะบิดเบือนความจริงให้สนองความต้องการของตน มีการปรับตัวทางสังคมไม่ดี ไม่มีความรู้สึกขัดแย้ง วิตกกังวล หรือสำนึกบาป มักก่อปัญหาให้ผู้อื่น
       เป็นผลมาจากการพัฒนาบุคลิกภาพแบบผิดๆ เรียนรู้การแสดงพฤติกรรมบางอย่างเมื่อเกิดความขัดแย้งแทนการพยายามปรับตัวด้วยการเก็บกดความปรารถนาที่ไม่เป็นที่ยอมรับมีลักษณะที่สำคัญ คือ การแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมเป็นแบบฉบับประจำตัว จะปรกกฎอาการให้เห็นในระยะวัยรุ่น พฤติกรรมดังกล่าวจะก่อกวนความสัมพันธ์กับผู้คนมากกว่าการเรียนหรือการทำงาน ไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ
      2. ลักษณะบุคลิกภาพผิดปกติ
     -  การผัดผ่อน การประวิงเวลาถือเป็นการแสดงความมุ่งร้ายที่ซ่อนอยู่ภายในพวกนี้เกิดความรู้สึกว่าคนจะตำหนิสิ่งที่ยังไม่ได้ทำน้อยกว่าสิ่งที่ปฏิบัติแล้ว ในขณะที่ผัดผ่อนไปเรื่อยๆ จะแสดงออกว่าตนจริงใจ ทำตัวมีเสน่ห์ และเห็นชอบด้วย
     - บุคลิกภาพระแวง ลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่งของผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้คือ ความริษยาแบบโง่ๆ ความริษยาเกิดจากความไม่ไว้วางใจ ชอบล่อหลอกหาทางจับผิดผู้อื่น ชอบถามซอกแซกเพื่อรู้เรื่องราวของคนอื่น แรกๆ ผู้คนจะรู้สึกว่าพวกนี้เอาใจใส่ผู้อื่น แต่หนักๆ เข้าจะรู้จะรู้สึกรำคาญ พวกนี้ไวต่อความรู้สึกไปหมดทุกเรื่อง มักอ้าวว่าการกระทำต่างๆ ของตนเองเป็นไปเพราะความรัก
      - บุคลิกภาพเจ้าระเบียบ ลักษณะที่มักแสดงออกคือ การเคร่งครัดต่อกฎระเบียบ ระมัดระวัง เป็นพวกพิถีพิถัน ละเอียดถี่ถ้วนมักจะครุ่นคิดในเรื่องความสะอาดและอนามัย ทุกอย่างต้องประณีตมีระเบียบ ใช้เวลามากมายกับเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
       3. การหลีกเลี่ยงความจริง
       คำพูดที่ว่า "พ้นสายตาก็จะจางไปจากใจ" คงไม่จริงเมือเราพบว่าปัญหาไม่ได้พ้นไปจากใจง่าย ๆ บางคนดูเหมือจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาเลยตลอดชีวิต เมื่อเป็นเช่นนี้อาจนำไปสู่พฤติกรรมปรับตัวที่ไม่ดี คู่สมาสที่มีปัญหาแก้ไม่ตกจะพัฒนาความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยและมีปมด้อยขึ้นมาได้ ความล้มเหลวจะทำให้บุคคลตำหนิตนเองและดำเนินชีวิตตามแบบที่ตนเองเห็นว่าไม่เข้าท่า คนที่กลัวการปฏิเสธจากผู้อื่นอาจทำตัวให้ถูกปฏิเสธหนักเข้าไปอีก
       - การหนีความจริง
       แม้พฤติกรรมการปรับตัวของเราและเทคนิคต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่ได้รับจากวัยเด็ก แต่จะมาแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหนในระยะวัยรุ่น การยอมรับตนเองเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนามโนภาพต่อตนเองที่บริบูรณ์ และการบรรลุวุฒิภาวะทางอารมณ์ พฤติกรรมของการหนีความจริง ได้แก่ การติดสุรา การติดยาเสพติด และอาการโรคจิต 

การรักษาและการป้องกัน

         ต้องทำหลายๆอย่างร่วมกัน เช่น อาจใช้ยาต้านเศร้าหากเด็กมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ต้องทำการบำบัดครอบครัว ให้คำแนะนำการเลี้ยงดูแก่มารดาและครูที่โรงเรียน รวมไปถึง
- สร้างสัมพันธภาพเพื่อการบำบัด เพื่อสร้างความไว้วางใจ
- ส่งเสริมความตระหนักรู้ในพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของตน และรับรู้ว่าพฤติกรรม ดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม โดยใช้หลักพฤติกรรมบำบัด เช่นการให้แรงเสริมทางบวก-ทางลบ
- เปิดโอกาสให้ปรับเปลี่ยนพลังความคับข้องใจ/ความโกรธเป็นพลังสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี
- ส่งเสริมความตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเอง การพัฒนาเอกลักษณ์แห่งตนอย่างเหมาะสม ด้วยการเสริมสร้างประสบการณ์ความสำเร็จ การประเมินศักยภาพของตนเอง และการตั้งเป้าหมายชีวิต

   แหล่งที่มาของข้อมูล
 - นงพงา ลิ้มสุวรรณ , ศิริไชย หงส์สงวน.  Aggression and violence in adolescents.   [Online].  Available: http://www.rcpsycht.org/cap/detail_articledr.php?news_id=52
- ศรีประภา ชัยสินธพ.  ramamental Ramathibodi mental health homepage.  สภาพจิตใจของเด็ก.  [Online].  Available:http://www.ramamental.com/medicalstudent/childandteen/childpsyc/
- สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.  pimchanok.  ลูกก้าวร้าว ควรรับมืออย่างไร.  [Online].  Available: http://www.thaihealth.or.th/Content/18454-‘ลูกก้าวร้าว’%20ควรรับมืออย่างไร%20.html
- Nakornping Hospital,Chiangmai.  การส่งเสริมสุขภาพจิต.  [Online].  Available: http://www.nkp-hospital.go.th/institute/pj/articleDetail.php?aID=2